Kinesio tape และ Rigid tape ทั้งสองเป็นผ้าเทปที่นิยมใช้ในการรักษาบาดเจ็บทางการกีฬา แก้ปวดเข่า แก้รองช้ำ อย่างไรก็ตามผ้าเทปทั้งสองชนิดนั้นมีความแตกต่างกันทั้งคุณสมบัติของเนื้อผ้าเทป ชนิดของกาวที่ใช้ยึดตรึงกับพื้นผิวของร่างกาย รวมถึงวิธีการใช้เทป
Rigid tape เป็นผ้าเทปชนิดหนึ่งที่ใช้หลักการของผ้าเทปทางการกีฬา (Prophylactic athletic taping) ในการรักษา เนื้อผ้าของ Rigid tape เป็นเนื้อผ้าฝ้ายเนื้อแข็ง หรือผ้าเรยอน ผสมด้วยสารเคลือบกันน้ำ กาวของ Rigid tape เป็น Zinc oxide หรือกาวที่มีส่วนผสมของ Latex (น้ำยางธรรมชาติ) วิธีการใช้Rigid tape อย่างที่ทราบโดยทั่วไป คือ มีจุดประสงค์เพื่อช่วยพยุง ยึดรั้งข้อต่อหรือกล้ามเนื้อให้อยู่นิ่ง ด้วยเนื้อผ้าที่มีความแข็ง เหนียวทำให้เป็นส่วนยึดพยุง แต่ด้วยการถักทอและสารที่เคลือบทำให้น้ำผ่านเข้าออกจากเนื้อผ้าได้ลำบาก ทำให้เนื้อผ้าอุ้มน้ำเวลาเปียกน้ำหรือเหงื่อ ตัวผ้าเทปจึงหลุดจากผิวหนังได้ง่ายเวลาเปียก การใช้ Rigid tape นั้นมีเวลาค่อนข้างจำกัด เนื่องจากประสิทธิภาพการติดผิวหนังจะค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการเคลื่อนไหว รวมทั้งเวลาผ้าเทปเปียกเหงื่อหรือน้ำ ส่วนการใช้งาน มักใช้เพื่อป้องกันการบาดเจ็บในการเล่นกีฬา และใช้ในกรณีต้องการพักหรือให้ส่วนที่บาดเจ็บอยู่นิ่งขณะอักเสบเฉียบพลัน (Acute inflammation) หรือ Sub-acute
ส่วน Kinesio tape หรือชื่อโดยสากล คือ Elastic therapeutic tape มีองค์ประกอบโดยหลักประกอบด้วยเส้นใยผ้าฝ้าย (Cotton fiber) และ เส้นใยที่ให้ความยืดหยุ่น (Elastic fiber) กาวที่ใช้เป็นกาวชนิด Acrylic แบบ Medical grade ทำให้การระคายเคืองที่เกิดจากกาวน้อยลง กาวชนิดนี้จะทำงานต่อเมื่อเกิดความร้อน ดังนั้นผู้ใช้งาน จะต้องถูบนผ้าเทปหลังติดเทปพยุงกล้ามเนื้อ เพื่อให้กาวยึดติดกับผิวหนังได้ดีขึ้น ผ้าเทปดังกล่าวถูกคิดค้นโดย Dr. Kenzo Kase มากกว่า 40 ปี ตัวผ้าเทปมีลักษณะการใช้เฉพาะเพื่อให้โครงสร้างที่ได้รับการบาดเจ็บ มีสภาพกลับคืนสู่สภาวะสมดุล (return body to homeostasis) โดยวิธีการใช้ผ้าเทป มีหลากหลายวิธี บางวิธีสามารถทำให้เกิดแรงยกต่อเนื้อเยื่อ ใช้ลดอาการปวด บวม ฟกช้ำ หรือบางวิธีสามารถสร้างแรงกดต่อเนื้อเยื่อ ใช้เพื่อการซัพพอร์ต สร้างความมั่นคงให้ข้อต่อ โดยขึ้นอยู่กับแรงดึงของผ้าเทป ( 0-100% tension) นอกจากนั้นความกว้าง รูปแบบการตัดของผ้าเทป และทิศทางการติดเทป ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาต่อเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ การใช้ผ้าเทปในการรักษาสามารถปรับการใช้ตั้งแต่สภาวะการอักเสบจนกระทั่งถึงช่วงการฟื้นฟู ซึ่งมีเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้ผ้าเทปบำบัดดังกล่าวเพื่อเสริมการทำการของกล้ามเนื้อ หรือกระตุ้นการรับรู้ความรู้สึกของข้อต่อในช่วงฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ผ้าเทปเพื่อลดบวมหรือช่วยระบายสารก่อความล้าในกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายอย่างหนักได้
ดังนั้น วิธีคิด การรักษา และวัตถุประสงค์ของการใช้งาน จะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ของการเลือกใช้งานผ้าเทป
ติดต่อสอบถาม คอร์สเรียนติดเทปพยุงกล้ามเนื้อ Kinesio Course ได้ที่..
Facebook : KinesioThailand
Phone : 081-750-1824
Line : @kinesiothai